วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การแต่งกายประจำชาติ


นาฏลีลาประจำชาติของประเทศกลุ่มอาเซียน
(National Dances in ASEAN Countries)



ประเทศไทย (Thailand) 
 นาฏศิลป์ไทยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ศิลปะชั้นสูง (นาฏศิลป์ชั้นสูง) และศิลปะพื้นบ้าน
(นาฏศิลป์พื้นบ้าน)

โขน (Khon) ถือเป็นรูปแบบนาฏศิลป์ไทยชั้นสูงที่มีเอกลักษณ์มากที่สุด แสดงโดยคณะนักแสดงที่ไม่ต้องอาศัยบทพูดในการสื่อสาร และมีคณะพากย์ทางด้านข้างของเวทีทำหน้าที่บรรยายเนื้อหาการดำเนินเรื่องประกอบกับวงปี่พาทย์ ท่าร่ายรำยึดตามรูปแบบดั้งเดิมมากกว่าท่ารำรูปแบบใหม่ๆ การแสดงโขนส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่คัดมาเป็นตอนๆ จากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ (Ramakien) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครเป็นแบบไทยโบราณ โดยผู้ที่แสดงบทเทวดา นางฟ้า ทั้งฝ่ายธรรมะและอธรรมสวมหน้ากากสีที่มีลักษณะแตกต่างกันไป
รำวง (Ramwong) เป็นนาฏศิลป์พื้นบ้านที่มีวิวัฒนาการมาจากรำโทน (Ramthone) รำโทนคือศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นที่นิยมเล่นตามเทศกาล รำ (Ram) หมายถึง การร่ายรำ โทน (Thone) หมายถึง กลองขนาดเล็กชนิดหนึ่ง รำวงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20



ประเทศมาเลเซีย
(Malaysia)
โยเก็ต (Joget) เป็นระบำมาเลย์แบบดั้งเดิมซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่มะละกา ได้รับอิทธิพลมาจากระบำโปรตุเกสที่แพร่เข้ามายังมะละกาในยุคของการค้าขายเครื่องเทศ เป็นหนึ่งในระบำพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศมาเลเซีย โดยปกติแล้วแสดงโดยคู่นักเต้นระบำชาย-หญิงในช่วงเทศกาลต่างๆ ตามประเพณี งานแต่งงาน และงานพิธีต่างๆ ทางสังคม จังหวะของดนตรีโยเก็ตจะค่อนข้างเร็วในระหว่างที่คู่เต้นหยอกล้อเล่นกัน ดนตรีเน้นจังหวะหนักแบบกลุ่ม 2 จังหวะ และแบบกลุ่ม 3 จังหวะ ขับร้องด้วยสำเนียงมาเลเซียตะวันออกเฉียงเหนือ

ประเทศฟิลิปปินส์
(The Philippines)
ตินิคลิ่ง (Tinikling) เป็นหนึ่งในการเต้นรำดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ที่เป็นที่นิยมและรู้จักมากที่สุด ใช้ลำไม้ไผ่ในการแสดง การเต้นประกอบด้วยจังหวะการเต้นแบบก้าวกระโดด 5 จังหวะ ในช่วง 4 จังหวะแรกคู่เต้นรำจะยืนตรงข้ามกัน ในช่วงจังหวะสุดท้ายทั้งคู่จะเริ่มเต้นรำอยู่ข้างเดียวกันระหว่างลำไม้ไผ่ 2 ลำ ซึ่งลำไม้ไผ่นี้ใช้เป็นเครื่องเคาะจังหวะด้วย โดยผู้จับไม้เคาะลำไม้กระทบกับพื้น และเคาะลำไม้กระทบกัน ในอัตราจังหวะที่เร็วขึ้น


ประเทศสิงคโปร์
(Singapore)
ศิลปะการเต้นรำ (หรือเรียกว่า Tiaowu หรือ เที่ยวอู่ ในภาษาจีน) ของประเทศสิงคโปร์ประกอบด้วยรูปแบบการเต้นรำแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย นับเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ค่อนข้างน้อยในเรื่องศิลปะการเต้นรำแบบแปลกใหม่ วิจิตรบรรจง และเชี่ยวชาญ อัตลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์ผ่านศิลปะการเต้นรำถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ซึ่งมักพัฒนาจากการรับรู้จากภายนอก มากกว่าการรับรู้และตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ได้มีมาแต่เดิมภายในท้องถิ่น ศิลปะการเต้นรำสองประเภทที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในสิงคโปร์ คือ การเต้นเชิดสิงโต (Chinese Lion Dance) และ บังสาวัน (Bangsawan) ซึ่งเป็นละครร้องแบบโอเปร่าของมาเลย์ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานมาเลย์ หรือนิยายเกี่ยวกับความรักและการทรยศหักหลัง



ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
(Brunei Darussalam)
 อาลุส ญูวา ดินดัง (Alus Jua Dindang) เป็นการฟ้อนรำตามแบบประเพณีโบราณโดยมีเพลงประกอบ และมักแสดงในพิธีมงคลสมรส โดยนักเต้นรำทั้งชายและหญิงเป็นผู้แสดงการฟ้อนรำและร้องเพลงประกอบไปด้วย



ประเทศลาว
(Lao PDR)
ลำลาว (Lam Lao) หรือ หมอลำ (Mor Lam) หมายถึง ดนตรีพื้นบ้านลาว ซึ่งการร้องรำในระดับพื้นฐานที่สุดมีนักร้องหรือผู้เล่าเรื่องและแคน (Khene) เป็นองค์ประกอบ การแสดงเป็นการโต้ตอบกันผ่านโคลงกลอนหรือการร้องเพลงระหว่างนักร้องชายและนักร้องหญิงที่แสร้งทำเป็นรักกันก่อนลงเอยด้วยการลาจาก หรือระหว่างเพื่อนที่พยายามชิงไหวชิงพริบกัน บทเพลงดำเนินไปด้วยท่ารำที่หลากหลาย มุขตลกต่างๆ และการหยอกเย้ากันระหว่างผู้แสดงและผู้ชม



ประเทศกัมพูชา
(Cambodia)
ชฮายาม (Chhayam) เป็นการร้องรำเพื่อความบันเทิงที่เป็นที่รู้จักกันดี การแสดงเน้นความสนุกสนานตลกขบขัน มีตัวตลกและหญิงงามประกอบการแสดง การร้องรำเป็นแบบเขมรแท้ มักนิยมแสดงในช่วงวันหยุด นักแสดงสวมหน้ากากตัวตลก ทำผมและแต่งหน้าเข้มในลักษณะเกินปกติธรรมดา



ประเทศอินโดนีเซีย
(Indonesia)

ซามาน (Saman) หรือระบำพันมือ เป็นการแสดงระบำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดระบำหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย มีต้นกำเนิดมาจากชนพื้นเมืองกาโย (Gayo) และโดยทั่วไป มักแสดงเพื่อเฉลิมฉลองในวาระสำคัญต่างๆ ในปีพุทธศักราช 2554 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้รับรองให้การแสดงระบำพันมือนี้เป็นหนึ่งองค์ประกอบทางนามธรรมแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากยูเนสโกอย่างเร่งด่วน




ประเทศเวียดนาม
(Vietnam)

แจ่ว (Chèo) เป็นรูปแบบของละครร้องเชิงเสียดสีทั่วไปที่มักมีการร่ายรำเป็นองค์ประกอบ การแสดงนี้แต่เดิมแสดงโดยชาวบ้านแถบเวียดนามตอนเหนือ และโดยทั่วไปยังจัดแสดงกลางแจ้งโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวกึ่งสมัครเล่นด้วย ตามที่ปฏิบัติกันมักแสดงที่จัตุรัสของหมู่บ้าน หรือลานกว้างของอาคารสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันละครร้องแจ่วนี้นิยมจัดแสดงในร่มมากขึ้นเรื่องๆ และแสดงโดยนักแสดงมืออาชีพ



ประเทศพม่า
 (Myanmar) 
ฟ้อนเทียน (Oil Lamp Dance) เป็นศิลปะการฟ้อนรำแบบดั้งเดิมของประเทศพม่า ดวงประทีปสำหรับบูชาองค์ประสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งแสงสุกสว่างซึ่งจุดจากไส้ตะเกียงสำลีแช่น้ำมันในจานรองถ้วยดินเผา ดวงประทีปคือจุดเด่นในการรำนี้ มือของผู้รำจะยกหงายขึ้นเพื่อรองรับดวงประทีปไว้ แต่ปัจจุบันเทียนมักถูกนำมาใช้ในการแสดงแทนดวงประทีป


ฟ้อนผีนัต (Nat Dance) แสดงโดยผู้ฟ้อนรำซึ่งมักแต่งกายในชุดผ้าไหมสีแดง โพกผ้าโพกศีรษะสีแดง และคาดผ้าพันคอสีแดงผูกปมรัดแน่นรอบอก ผู้ฟ้อนถือถาดใส่ของไหว้ผี ฟ้อนรำในลักษณะการขอขมาลาโทษ โดยฟ้อนซ้ำจังหวะเดิม 3 ครั้ง พร้อมขับร้องบทเพลงของพิธีไหว้ผี เพื่อขอขมาลาโทษต่อผีนัตหรือดวงวิญญาณแห่งประเทศพม่าทั้ง 37 ตน รวมถึงผีนัตหรือดวงวิญญาณประจำท้องถิ่นด้วย


3 ความคิดเห็น: